เมื่อเรารู้จักสารเหล่านี้กันแล้ว คราวนี้มาดูกันว่า บริการของบริษัทป้องกันและกำจัดปลวกต่างๆ เป็นอย่างไร
ก่อนการสร้างบ้าน (pre-construction)
- โดยทั่วไปแล้ว ก่อนการสร้างบ้าน จะมีการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดปลวกบริเวณพื้นที่ก่อสร้างบ้านหรืออาคารให้ทั่วถึงเพื่อกำจัดปลวกที่อาจจะอาศัยอยู่ใต้ดิน และป้องกันไม่ให้ปลวกเข้ามาอาศัยในดินบริเวณที่มีบ้านตั้งอยู่ โดยสารเคมีกำจัดแมลงหรือกำจัดปลวกนั้นมีให้เลือกอยู่มากมาย แต่ที่ได้รับความนิยมสูงคือ Fipronil, Imidachlorprid, Bifenthrin cypermethrin, Permethrin, Chlorfenapyr , chlopyrifos เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว การที่เราอยู่อาศัย สูดอากาศบนบ้านที่มีดินที่เต็มไปด้วยสารเคมี ก็ไม่น่าจะดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยมากนัก เราไม่มีทางรู้เลยว่า สารเคมีที่เค๊านำมาใช้ในการทำดินให้เป็นพิษนั้น คืออะไรและมีผลข้างเคียงต่อเราอย่างไรในระยะยาว ซึ่งเราจะเห็นได้อยู่เนืองๆ ว่ามีการสั่งระงับการใช้สารเคมีบางชนิด หรือจากนิยมใช้ไประยะเวลาหนึ่ง
ส่วนบ้านใครที่อยู่ใกล้ริมน้ำ ก็ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ เพราะ สารพิษที่เรานำลงดิน จะถูกชะล้างไหลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ นอกจากจะทำให้สารเคมีเจือจางเร็วกว่ากำหนดแล้ว ยังเกิดสารพิษตกค้างในธรรมชาติอีกด้วย ทำให้เราไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตในน้ำจะได้รับผลกระทบอะไรจากสารเคมีเหล่านี้ไปด้วย
สารเคมีกำจัดแมลงเหล่านี้อาจมีค่าความเป็นพิษสูง-ต่ำ ระยะเวลาการเสื่อมสลายตัว การทนกรด ทนด่าง คุณสมบัติการไล่แมลงแม้กระทั่งกลิ่นฉุน ที่แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของสารเคมีที่เลือกใช้ ซึ่งเจ้าของบ้านหลายๆ คนก็มักจะไม่ได้ใส่ใจถามว่าสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดปลวกนี้ออกฤทธ์อย่างไรหรือมีคุณสมบัติดีหรือต่างกันอย่างไร หากถามว่าจำเป็นมั๊ยที่เจ้าของบ้านควรจะถาม ก็คงจะขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านแต่ละคนว่า ต้องการทราบหรือไม่และเอกเขนกจะเฉลยทีหลังว่า ถ้าเจ้าของบ้านรู้ข้อมูลตรงนี้แล้วจะมีประโยชน์อย่างไร
ในสมัยก่อน การอัดน้ำยาเข้าสู่ดินต้องใช้เครื่องมือที่เป็นท่อเหล็กแหลมอัดน้ำยาลงไปในดินทุกตารางฟุตเพื่อให้ยากระจายให้ทั่วในดิน เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีดินในจุดไหนที่ไม่ได้รับน้ำยานี้ เหตุผลที่จำเป็นต้องทำเช่นนี้เพราะถ้าน้ำยาถูกอัดลงดินไม่ทั่วถึง ปลวกอาจจะหนีจากบริเวณที่ดินเป็นพิษ มาอยู่ในบริเวณที่ไม่โดยน้ำยาได้ ซึ่งเมื่อเราปลูกสร้างบ้านไปแล้ว ปลวกที่ยังอาศัยอยู่ใต้ดินนั้น ก็จะเข้าสู่ตัวบ้านได้ง่ายขึ้น
ในปัจจุบันสารเคมีใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเหมือนในอดีต เพียงแค่ฉีดพ่นให้ทั่วถึงบนผิวดินให้สม่ำเสมอ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกสร้างอาคาร โดยทั่วไปจะใช้อัตราน้ำยาที่ผสมแล้ว 5 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. ซึ่งก็ให้ความสะดวกมากขึ้นเมื่อเทียงกับการใช้เครื่องมือเหมือนในสมัยก่อน สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ไม่ออกฤทธิ์ไล่ปลวก(non-repellent) แต่ออกฤทธ์ด้วยการทำให้ปลวกตาย (toxic) เมื่อเดินผ่าน
- ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดปลวกบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเหมือนในข้อ 1 พร้อมกับวางระบบท่อไว้บริเวณคาน พื้นที่ใต้อาคารพร้อมติดตั้งระบบสปริงเกอร์ไว้เพื่อการฉีดพ่นสารเคมีซ้ำเป็นรายปี เมื่อสร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่ ระบบวางท่อใต้ดิน วิธีวางท่อเป็นการวางระบบท่อใต้พื้นดินรอบฐานรากของตัวบ้าน แล้วอัดน้ำยาป้องกันปลวกลงไปตามท่อ น้ำยาจะถูดดันออกมาผ่านหัวสปริงเกอร์ที่วางไว้จุดต่างๆ ใต้คานบ้าน วิธีนี้เหมาะที่จะใช้กับบ้านสร้างใหม่เพราะเราสามารถให้ทางบริษัทกำจัดแมลง ออกแบบและติดตั้งระบบท่อได้เหมาะโครงสร้างฐานรากที่เอื้อต่อการวางท่อใต้ดินและสะดวกในการเข้าไปดูแลรักษา แต่ข้อเสียคือ ต้องอัดน้ำยาตามกำหนดการป้องกันจึงจะได้ผล และอาจจะมีโอกาสที่หัวสปริงเกอร์อุดตันเมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่ง และเราจะทราบได้อย่างไรว่าหัวสปริงเกอร์หัวใดบ้างที่ตัน เพราะหัวสปริงเกอร์นั้นอยู่ใต้บ้าน
การใช้สารเคมีฉีดพ่นดินบริเวณที่ก่อสร้างบ้าน หากมีการฉีดพ่นสารเคมีทีมีประสิทธิภาพในอัตราส่วนที่ถูกต้องตามที่แนะนำไว้บนฉลากและฉีดพ่นอย่างทั่วถึง และไม่มีการขุดดินหรือการกระทำใดๆ ที่ไปกระทบกับดินที่ฉีดพ่นสารเคมีไว้แล้ว บ้านสามารถป้องกันปลวกได้อย่างน้อย 1-3 ปี เพราะสารเคมีกำจัดปลวกจะทำลายรังปลวกเดิม และป้องกันการสร้างรังใหม่ของแมลงเม่าได้เป็นอย่างดี
หลังการก่อสร้างบ้าน(post-construction)
เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้ จะมีประสิทธิภาพอยู่ไม่เกิน 3 ปี และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความร้อนชื้นฝนตกชุกทำให้เกิดการชะล้างสูงและสารเคมีสลายตัวไว การทำ retreatment เพื่อให้ดินมีสภาพความเป็นพิษไม่เหมาะให้ปลวกเข้าอยู่อาศัย อยู่ทุกปี เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น เมื่อสารเหล่านี้หมดฤทธ์แล้ว ปลวกก็จะกลับมาสร้างรังใต้บริเวณบ้านอีกได้ โดยการทำ retreatment นั้น จะใช้วิธีต่างๆ กันดังนี้
- ฉีดพ่นสารกำจัดปลวกลงใต้อาคารผ่านทางระบบท่อและสปริงเกอร์ที่เตรียมไว้ก่อนการสร้างบ้าน ส่วนใหญ่มักจะฉีดพ่นซ้ำทุกๆ ปี โดยเจ้าของสามารถเลือกชนิดของยาที่แตกต่างกันได้ (หมายความว่า หากเจ้าของบ้านต้องการ ก็สามารถเปลี่ยนบริษัทที่จะเข้าทำ retreatment ได้) แต่ต้องระมัดระวังการใช้สารเคมีกำจัดปลวกและแมลงแบบสัมผัสตายแต่ไม่มีการไล่แมลง (non repellent) ทับสารกำจัดแมลงประเภทที่ออกฤทธิ์ไล่แมลง(repellent) อาจจะไม่ได้ผลหรือลดประสิทธิภาพไป โดยทั่วไปจะต้องทิ้งระยะห่างไว้อย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อให้สารกำจัดแมลงและปลวกที่มีฤทธิ์ไล่แมลงเสื่อมสภาพไปก่อน
- ฉีดพ่นสารกำจัดแมลงและปลวกโดยใช้ระบบโฟมเป็นตัวพาสารเคมี โดยโฟมจะช่วยขยายปริมาณของน้ำยากำจัดปลวกในอัตรา10-20 เท่าเพื่อเติมเต็มช่องว่างใต้ดินก่อนจะยุบตัวลงทำให้พื้นที่ผิวดิน และคอนกรีตเปียกชุ่มด้วยน้ำยาอย่างทั่วถึง ฉีดโฟม เป็นการฉีดเนื้อโฟมของสารเคมีเข้าไปในแทรกตัวให้เต็มช่องว่างส่วนต่างๆ ของบ้านเช่น ช่องว่างของฐานรากที่อยู่ใต้ดิน ช่องว่างของผนัง หรือรอยแยก รอยแตก รอยร้าวที่พอจะเป็นช่องทางให้ปลวกเข้าสู่ตัวบ้านได้ โดยโฟมจะเป็นตัวหาสารเคมีเข้าไปบริเวณที่ฉีดพ่นด้วยของเหลวปกติไม่ได้ โฟมจะยุบตัวลงภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ทำให้ผนังช่องว่างเปียกอย่างทั่วถึง วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่สร้างเสร็จแล้วที่ต้องการใช้สารเคมีซ้ำโดยไม่ต้องวางระบบท่อสปริงเกอร์แต่อาจต้องเจาะพื้นหากไม่มีการเตรียมท่อสำหรับฉีดโฟม วิธีการนี้เหมาะสำหรับสารกำจัดแมลงและปลวกประเภทที่สามารถออกฤทธิ์ไล่แมลง เพื่อช่วยลดจุดอ่อนที่เป็นช่องโหว่ให้ปลวกเข้าสู่บ้านในกรณีที่ไม่สามารถใช้สารเคมีให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดอย่างทั่วถึง ในทางกลับกัน เมื่อสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำยากำจัดปลวกประเภทนี้ได้เหนือกว่า เพราะปลวกจะไม่มาเข้ามาใกล้บ้านอีกเลย
สำหรับบ้านที่ก่อสร้างเสร็จแล้วโดยไม่มีการติดตั้งระบบท่อและสปริงเกอร์ หรือท่อรอบอาคารสำหรับฉีดพ่นน้ำยาหรือโฟม หากพบว่ามีปลวกเข้ามาในบ้านแล้ว บ้านอาจต้องถูกเจาะพื้นเป็นระยะทุกๆ 1 เมตรตามแนวคานเพื่อทำการฉีดพ่นน้ำยาหรือโฟมเข้าไป เว้นเสียแต่ว่าบ้านหรืออาคารนั้นมีพื้นที่ใต้ถุนหรือมีคานสูงกว่าผิวดิน 70 ซม. พนักงานของบริษัทกำจัดปลวกสามารถเข้าไปฉีดพ่นน้ำยาใต้อาคารได้โดยไม่ต้องเจาะพื้น และยังสามารถสำรวจท่อทางเดินของปลวก(ถ้ามี) ใต้อาคารได้ ดังนั้น บ้านที่มีคานคอดินสูงจากระดับพื้น 70-100 cm. จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบท่อและสปริงเกอร์ใต้อาคารนั้นๆ.
สำหรับบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว หากมีปัญหาปลวกเข้าบ้านแต่ไม่ต้องการให้บริษัทกำจัดแมลงเจาะพื้นเพื่อฉีดพ่น สารเคมีกำจัดแมลงเข้าใต้อาคาร ท่านอาจจะมีทางเลือกหรือทางเลี่ยงอื่น วิธีหนึ่งคือ การใช้บริการระบบเหยื่อป้องกันปลวกซึ่งเรากำลังจะกล่าวถึง
แต่เนื่องจากดินไม่ได้เป็นถิ่นที่อยู่ของปลวกอย่างเดียว เมื่อทำให้ดินเป็นพิษเสียด้วยการฉีดหรือพ่นสารเคมีเข้าไปก็ทำให้สัตว์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ใต้ดินตั้งแต่กิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงอื่นๆ ต้องตายไปด้วย นอกจากนั้นแล้ว อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น สารเคมีที่ใช้ในการทำให้ดินเป็นพิษนั้น มักจะมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ก่อนที่ประสิทธิภาพของมันจะหมดไปเมื่อปลวกพัฒนาตนเองให้ทนทานต่อสารเคมีนั้นๆ
และเนื่องจากประเทศไทยเป็นเขตอากาศที่ทั้งร้อนทั้งชื้น ทำให้การทำ soil treatment เหล่านี้มีอายุการใช้งานไม่ถึง 10 ปี ทำให้เราต้องใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้นเข้มข้นขึ้น และบ่อยขึ้น เพื่อให้ทนต่อสภาพอากาศของประเทศไทยได้ นอกจากนั้น สารเคมีเหล่านี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนสูตรกันมาเรื่อยๆ เพื่อป้องกันอาการดื้อยาของปลวกและแมลง